การพัฒนา(2)
ท่านเป็นนักการศึกษา มาตั้งแต่บวชครั้งแรก จะเห็นว่าตามประวัติของท่าน พอเริ่มบวช ก็เร่งศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เริ่มเป็นครูสอนคนมาตั้งแต่ยังเป็นพระหนุ่ม มีความรู้เพียงชั้นประศึกษาปีที่ ๓ และนักธรรมชั้นโท แต่สามารถสอนได้ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๕-๖ และ นักธรรมชั้นเอก ทั้งนี้เพราะว่าท่านศึกษาด้วยตนเอง สามารถเปิดสำนักเรียนนักธรรมและบาลี จนมีลูกศิษย์สอบได้หลายคนอาทิ เช่น สอบบาลีได้มี ท่านมหาแสน นันทวรรณ, ท่านมหาวิศิษฐ์ จิตรบุณย์, ท่านมหาพรหม ธรรมสรางกูร, สามเณรจันเพ็ญ วัฒนปรีดี ปธ.๓ ,ท่านมหาอินธรรม วัฒนปรีดี, ท่านมหาประสิทธิ์ ถิ่นจอม, ท่านมหาฟัก ศิริพันธ์และท่านมหาชวลิต แนวลาด เป็นต้นและมีผู้สอบนักธรรมได้อีกจำนวนมาก บางคนสามารถนำไปสมัครสอบเป็นข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ ได้ก็หลายคน
สมัยนั้นไม่มีใครรู้หนังสือไทย ท่านก็นำความรู้ที่ไปศึกษามาสอนคนบ้านถิ่นให้รู้หนังสือเหมือนอย่างท่าน ใช้ศาลาที่พักคนต่างถิ่นที่มาค้าขายเป็นสถานที่สอนหนังสือ ต่อมาก็หาที่ดินเพิ่มเติม ขยายเขตโรงเรียน หากเจ้าของไม่ขายให้เพื่อเก็บไว้ทำนา ท่านก็จะหาซื้อที่ดินผืนที่ทำนาได้ดีกว่า ที่เจ้าของยินยอมขายให้มาแลกเปลี่ยนกัน ต่อมาท่านได้สร้างห้องสมุดขึ้นที่วัดถิ่นใน มีหนังสืออ่านมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม ตอนนั้นมีนายอำเภอหนุ่มรูปหล่อ จากอำเภอร้องกวางชื่อ นายชลอ ธรรมศิริ มาเป็นประธานเปิดผ้าคุมป้าย ห้องสมุดวัดถิ่นใน
ในส่วนของสุสานบ้านถิ่นนั้น แต่เดิมใช้ป่าช้าปู่คง ( สระเก็บน้ำใต้อ่างเก็บน้ำฮ่องฮ่าง อยู่ หมู่ ๒ ) สมัยก่อนต้องหามศพไปป่าช้า ที่ไม่มีถนนต้องหามเดินลัดเลาะไปตามทุ่งนาของชาวบ้าน สัปเหร่อ ต้องหาม ๔ คน ระยะทางไกล ต้องมีคนสะพายดาบและถือแคร่ส่องนำทาง พอไปถึงป่าช้าก็ก่อกองไฟผู้ที่ไปร่วมงานทุกคนต้องข้ามกองไฟทั้งขาไปและขากลับ ทุกคนจะต้องเดินกลับบ้านโดยไม่เหลียวหลัง หลวงปู่ท่านเห็นว่าเป็นความลำบากของศรัทธาชาวบ้านด้วยการเดินทาง และศาลาที่พักทำพิธีกรรมก็ไม่มี ท่านจึงได้หาที่สร้างสุสานใหม่ โดยกำหนดให้การเดินทางไป-กลับสะดวก
ในที่สุดท่านก็ได้สถานที่ที่ต้องการอยู่ไม่ห่างจากบ้านเรือนราษฎรมากนัก ท่านจึงได้ขอซื้อที่นาจากพ่อรส ธรรมสรางกูร และพ่อผัน ธุรกิจ ที่นาโชคปู่เต๋ ติดกับฮ่องพระเฮียนเจิงซึ่งอยู่ติดทางล้อเกวียนไปนาไปไร่ของชาวบ้าน แล้วได้นำราษฎรสร้างศาลาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้น ๑ หลัง ด้วยการเกณฑ์หัวหมวดของวัดหมวดละ ๒ วันช่วยกันสร้าง หัวหมวดจึงเกิดขึ้นสมัยนั้น) พอสร้างเสร็จแล้ว พ่อผัน ธุรกิจ ก็ได้นำต้นโพธิ์ไปปลูกไว้(มีพระเณรช่วยกันแห่ต้นโพธิ์ไปด้วย) ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นต้นตะหง่านในปัจจุบันนั่นเอง ต้นโพธิ์จึงมีมาพร้อมกับฌาปนสถานบ้านถิ่นในปัจจุบัน การนำศพไปป่าช้าจึงง่ายขึ้น เพราะใส่หีบศพบรรทุกล้อเกวียนไปได้ สมัยก่อนศพเด็กหรือคนที่ตายโหงไม่ทำการเผา ใช้วิธีฝังภายในบริเวณป่าช้านั่นเอง
สำหรับโรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยานั้น เดิมที่ดินผืนนี้แห้งแล้ง ขาดน้ำทำนาไม่ได้ผล ท่านก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวจัดซื้อไว้บ้าง ทุนมูลนิธิของวัดถิ่นในบ้าง ขอบริจาคบ้าง ซื้อที่ดินที่อื่นแลกเปลี่ยนบ้างเพื่อสร้างโรงเรียน โดยในตอนแรกได้สร้างอาคารเรียนไม้สักทอง และศาลาประชาคมเป็นที่ประชุมชาวบ้าน ๑ หลัง บ้านพักปลัดอำเภอ และ พนักงานอนามัย ต่อมาท่านได้สร้างอาคารเรียนขึ้นมา ๑ หลังเป็นตึกชั้นเดียว อาศัยแรงงานชาวบ้านช่วยกันทำ ขณะนั้นมีคนคัดค้านท่านหลายคน หาว่าท่านไปสร้างไว้เป็นสถานที่มั่วสุม "ชนกว่าง" กันในเวลากลางคืนเท่านั้นแต่ท่านก็อธิบายว่า สถานที่แห่งนี้ติดกับถนนสายใหญ่เชื่อมระหว่างหลายหมู่บ้าน ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนของชาวบ้านแถบนี้